นายอารง สาและ(ด้านกรือโต๊ะ)

 “กรือโต๊ะ” เป็นคำภาษามาลายู ใช้เรียกการละเล่นชนิดหนึ่ง ซึ่งทำจากลูกมะพร้าวแห้งกับไม้ใช้ตีให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า คำว่า “กรือโต๊ะ” ไม่มีความหมาย แต่น่าจะเป็นชื่อที่แยกเลียนเสียงการตีอุปกรณ์ไล่นกชนิดหนึ่งเมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว เดิมทีนั้นเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านโต๊ะแบ ตำบลมะรือโบออก ในจังหวัดนราธิวาส ที่คิดค้นวิธีการไล่ ไก่ เป็ด และนก ไม่ให้มากัดกินเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนา โดยการขุดหลุมกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ลึก 25-30 เซนติเมตร แล้วนำไม้ไผ่ที่ผ่าครึ่งแล้วจำนวน 5 ท่อน นำมาพาดไว้บนหลุม 1 ท่อน เรียกว่า “ใบกรือโต๊ะ” ที่เหลือ 4 ท่อน นำมาปักที่ขอบด้านนอกหลุมให้ชิดกับใบกรือโต๊ะ เพื่อกันไม่ให้เคลื่อนที่ และใช้ก้านมะพร้าวเป็นไม้ตี เนื่องจากหาง่ายและให้เสียงที่ดังไปไกล ไล่นกได้ผลดี

          ต่อมาเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องขยายพื้นที่ทำนาไปไกลๆ การขุดหลุมจึงกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก ที่สำคัญหากมีฝนตกก็ใช้การไม่ได้ ชาวบ้านจึงได้คิดค้นอุปกรณ์ไล่นกแบบใหม่ที่สามารถพกพาไปได้ทุกที่ โดยเลียนแบบจากของเดิม มีการใช้ลูกมะพร้าวมาแทนการขุดหลุมเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน วิธีการคือ ใช้มะพร้าวที่ถูกกระรอกกัดกินเนื้อข้างในจนหมด โดยธรรมชาติแล้วกระรอกจะกัดบริเวณก้นของลูกมะพร้าวทีละนิด จนถึงเนื้อมะพร้าว แล้วกินเนื้อด้านในจนหมด จากนั้นมะพร้าวก็จะตกจากต้นเอง ชาวบ้านนำลูกมะพร้าวมาตัดก้นตรงที่กระรอกกัดกินออก โดยการตัดให้กว้างประมาณ 1 ใน 4 ของขนาดของมะพร้าว แล้วใช้รูปแบบเดียวกันกับการขุดหลุม คือ หงายส่วนที่ตัดขึ้น นำไม้ไผ่ผ่าครึ่ง 1 ท่อน มาวางพาดส่วนที่ตัดไว้ เรียกว่า “ใบกรือโต๊ะ” แล้วนำซี่ไม้ไผ่ 2 ท่อน มาผูกติดกับลูกมะพร้าวด้วยเชือกปักเป็นเสา 2 ข้าง ยึดใบกรือโต๊ะไว้ด้านใดด้านหนึ่ง ใบกรือโต๊ะอีกด้านให้เจาะรูแล้วยึดด้วยซี่ไม้ไผ่ขนาดเล็กปักไว้กับฐานรองและผูกยึดติดกับลูกมะพร้าวเช่นกัน ใช้ก้านมะพร้าวเป็นไม้ตี

          เมื่อมีการใช้กรือโต๊ะกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น และเสียงกรือโต๊ะของแต่ละคนก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (ขึ้นอยู่กับลูกมะพร้าวและไม้ไผ่) เลยมีการจัดการประชันขึ้น จนกลายเป็นการแข่งขันที่มีกฎเกณฑ์ขึ้น 2 เกณฑ์ โดยทั่วไปแล้วจะดู 2 อย่าง คือ 1) ความสวยงามในการตกแต่งกรือโต๊ะ 2) ความดังและทำนองในการทำเพลง จากนั้นกรือโต๊ะก็กลายเป็นอุปกรณ์การละเล่นชนิดหนึ่งที่นิยมเล่น และส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันในงานต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานมีของเล่นใหม่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กรือโต๊ะค่อยๆ จากหายไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากมาก