(ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์แผนไทย (หมอตำแย)

ชื่อ นางปารีด๊ะ  เจ๊ะอีซอ

ที่อยู่ 9  ซ.บาลาเซาะฮูลูบือแน ถ.ประชานุเคราะห์

ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทยอันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนาและถ่ายทอด สืบต่อกันมาเพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย  ภูมิปัญญาไทยหรือที่ยกย่องกันว่าปราชญ์ชาวบ้าน มีความหลากหลายตามความถนัดและการปฏิบัติของแต่ละคนซึ่งมีความรู้ที่มีการหล่อหลอม ซึมซับ บ่มเพาะ ค้นคว้า ทดลองโดยใช้วิถีชีวิตของตนเองเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ เพื่อทดสอบความถูกผิดแล้วคิดสรรกลั่นกรองสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตแก่แผ่นดิน ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้สืบสานทั้งที่เป็นสมบัติทางปัญญา ภูมิปัญญาไทย มีลักษณะองค์รวมและมีคุณค่าทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นในวิถีชีวิตไทย ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจเป็นที่มาขององค์ความรู้ที่งอกงามขึ้นใหม่ที่จะช่วยในการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา การจัดการและการปรับตัวในการดำเนินชีวิตของคนไทย ลักษณะองค์รวมของภูมิปัญญามีความเด่นชัดในหลายด้าน

            หมอตำแย หรือผดุงครรภ์โบราณ ที่ภาษามลายูท้องถิ่นเรียกว่าโต๊ะบีแด ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส เคยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลหญิงมีครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด แต่การเข้าถึงบริการสาธารณสุขสมัยใหม่ ส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบอาชีพผดุงครรภ์พื้นบ้านจึงลดลงจนเกือบจะสูญหาย รูปแบบการผดุงครรภ์ของโต๊ะบีแดยึดโยงอยู่บนหลักการของศาสนา ผสมผสานวิถีพื้นบ้าน และประเพณีการเกิดของชาวไทยมุสลิมร่วมด้วยผ่านการทำพิธีแนแง ซึ่งเป็นการลูบไล้ครรภ์ของหญิงครรภ์แรก เพื่อให้คลอดง่าย และเกิดสิริมงคลต่อทารก

            ปัจจุบันพบได้ว่าผู้ประกอบอาชีพโต๊ะบีแดเริ่มสูญหาย จนเกรงว่าจะทำให้พิธีกรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมต้องสูญหายไป ซึ่งจำเป็นต้องสืบทอดวิชาชีพนี้อยู่ต่อไป หนทางหนึ่งที่เป็นไปได้ในการสืบทอดวิชาชีพนี้คือการดึงให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสร้างรายได้จากการศึกษาศาสตร์การนวดมารดา การดูแลหลังคลอดบุตร ซึ่งหากกลุ่มลูกหลานสมาชิกครอบครัวของผดุงครรภ์โบราณให้ความสนใจ ก็น่าจะยังพอจะรักษาวิชาชีพนี้ไว้ได้

ผู้ให้ข้อมูล   นางปารีด๊ะ  เจ๊ะอีซอ

ผู้เรียบเรียง  มูฮัมหมัดอัสรี ยูโซะ