เริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน เริ่มได้ในครอบครัว แต่จะทำอย่างไรให้คนรู้ว่า “เราสร้างความเท่าเทียมให้เด็กได้

เริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน เริ่มได้ในครอบครัว แต่จะทำอย่างไรให้คนรู้ว่า “เราสร้างความเท่าเทียมให้เด็กได้ เพียงแค่เราเข้าใจว่าการอ่านมันสำคัญมากๆ” จึงเป็นเหตุผลให้ หมอแพม – พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี เปิดเพจ หมอแพมชวนอ่าน

“เราต้องยอมรับก่อนว่าประเทศเราความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมากๆ แน่นอนเด็กที่ฐานะดีกว่าเข้าถึงโอกาสมากกว่า เขาก็ต้องเรียนได้ดีกว่า เด็กที่โรงเรียนมีงบประมาณเข้าถึงกว่า มีอุปกรณ์พร้อมกว่า เขาก็ต้องทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว แล้วจะเหลืออะไรให้เด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง

สิ่งที่เหลือคือ ความเท่าเทียมที่สมองเขาจะได้พัฒนาไปพร้อมๆ กับเพื่อน คือถ้าสมองโดนเชฟตั้งแต่เด็ก อย่างน้อยๆ ต่อให้เขาไม่ได้รวยมาก ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่เป็นจุดศูนย์กลาง แต่สมองเขามันพร้อมที่จะพัฒนาทุกเมื่อ เมื่อได้รับข้อมูล นี่มันคือการสร้างความเท่าเทียมตั้งแต่ที่เขายังอยู่ในช่วงปฐมวัย ซึ่งเราไม่ค่อยนึกถึง และจริงๆ มันทำได้”

ที่กล้าพูดเช่นนั้น ก็เพราะว่าหมอแพมเองก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มเด็ก Resilient student (นักเรียนที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก แต่มีการเรียนที่ดี) ซึ่งมีการศึกษาว่า ทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงทำคะแนนได้ดี นั่นเป็นเพราะว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่พ่อแม่ใส่ใจ พ่อแม่อ่านหนังสือด้วยจนถึงอายุ 15 ปี นี่คือคำตอบ ซึ่งประเทศไทยมี Resilient student 15%

การอ่านสัมพันธ์จึงกับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก ทั้งการสื่อสาร ทั้งภาษาต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเอง และเป็นต้นทุนที่เปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งได้เลย

การอ่านจึงเริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาหลักสูตรควรเน้นให้เด็กอ่านจับใจความ ฝึกคิดวิเคราะห์ และนำความรู้ไปใช้ได้จริง รวมถึงนโยบายรัฐควรส่งเสริมให้เด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางเข้าถึงหนังสือตั้งแต่แรกเกิด เช่น จัด welcome bag หนังสือ 3 เล่มให้กับคุณแม่

อ่านบทความ ‘การอ่าน’ คือต้นทุน(เปลี่ยน)ชีวิตเด็ก กำหนดอนาคตประเทศไทย: พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี – หมอแพมชวนอ่าน https://thepotential.org/…/reading-is-a-life-changing…/

เรื่อง นฤมล ทับปาน