บริบทตำบล

ข้อมูลตำบลบาเระใต้

1.2 ที่ตั้ง

           ตำบลบาเระใต้ เป็นหนึ่งใน 6 ตำบลของอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ บาเจาะไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 5 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 39.68 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 25,307 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลต่างๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบาเจาะ ตำบลกาเยาะมาตี อำเภอบาเจาะ

1.3 ลักษณะภูมิประเทศ

           สภาพพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศของตำบลบาเระใต้ ลักษณะส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมขัง โดยสามารถแยกออกได้ดังนี้

ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่ราบและเป็นดินทราย ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ตำบลซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของตำบลครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 2,4,5 และ 6 และหมู่ที่ 3 บางส่วน สูงจากระดับน้ำทะเล 8 เมตร

ส่วนที่ 2 พื้นที่ดินพรุ มีประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ตำบล ซึ่งอยู่ส่วนกลางของตำบลและอยู่รอบๆ หมู่บ้าน ซึ่งมีลักษณะเป็นดินเปรี้ยวและมีไม้เสม็ดขึ้นปกคลุมพื้นที่หมู่ที่ 3,6 และหมู่ที่ 2 บางส่วน สูงจากระดับน้ำทะเล 3 เมตร

ส่วนที่ 3 พื้นที่ดอน มีประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่ตำบล ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ ส่วนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่บ้านบือเระ หมู่ที่ 1 และบ้านตันหยง หมู่ที่ 4 บางส่วน

1.4 ลักษณะภูมิอากาศ

           ลักษณะอากาศทั่วไปของตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิดคือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีลมพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดผ่านอ่าวไทยเข้าปกคลุมจังหวัดนราธิวาส ทำให้ มีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี่พัดผ่านอ่าวไทย จึงทำให้มีฝนตกทั่วไปตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนบนของประเทศ และตำบลบาเระใต้ซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่ จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และมีอากาศหนาวเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตกซึ่งปิดกั้นกระแสลมไว้ ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสมีฝนตกน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม ฤดูกาลของตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส แบ่งตามลักษณะของลมฟ้าอากาศแบบร้อนชื้น มี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่องว่างของฤดูมรสุม หลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวแล้วอากาศจะเริ่มร้อนและมีอากาศร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมประเทศไทยทำให้มีฝนตกทั่วไป และในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมาก และเนื่องจากตำบลบาเระใต้อยู่ริมทะเลฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งด้วย อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วไปของตำบลบาเระใต้อยู่ระหว่าง 27 – 29 องศาเซลเซียส

1.5 ลักษณะของดิน

          ตำบลบาเระใต้ มีลักษณะดินซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือสันเนินทราย ดินที่ลุ่มน้ำขังหรือดินพรุ และภูเขาเตี้ย ๆ โดยพื้นที่ตำบล ด้านชายฝั่งจะเป็นสันเนินทรายกว้างประมาณ 500 เมตร ยาวตลอดจากเหนือจรดใต้ ถัดเข้าไปเป็นพื้นที่พรุ ถัดจากพื้นที่พรุเป็นสันเนินทราย และ ถัดไปเป็นพื้นที่พรุ

  1. ด้านการเมือง/การปกครอง

2.1 เขตการปกครอง

ตำบลบาเระใต้ มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน (อยู่ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบล บาเระใต้) ประกอบด้วย

– หมู่ที่ 1 บ้านบือเระ               นายมูฮำมัด สาและ       ตำแหน่ง กำนันตำบลบาเระใต้

– หมู่ที่ 2 บ้านบูเกะสูดอ            นายอิสมาแอ ยามะแอ    ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๒

– หมู่ที่ 3 บ้านคลอแระ             นายอับดุลอาซิ ดิเยาะ     ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓

– หมู่ที่ 4 บ้านตันหยง              นายกามารูดิง นิเฮง       ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๔

– หมู่ที่ 5 บ้านชูโว                  นายมะสบรี อาลี           ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๕

– หมู่ที่ 6 บ้านฮูแตยือลอ           นายแวอาแซ ดาโอ๊ะ       ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๖

– หมู่ที่ 7 บ้านบือเระ 2            นายมะอูเซ็ง เจ๊ะมี         ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๗

  1. ประชากร

3.1 ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร

          มีประชากรทั้งสิ้น 7,651 คน แยกเป็น ชาย 3,753 คน หญิง 3,898 คน มีจำนวนครัวเรือน 1,593 ครัวเรือน

 **(ข้อมูล 28 เดือนกุมภาพันธ์ 2566 จากฐานข้อมูลสำนักทะเบียนอำเภอบาเจาะ

  1. สภาพทางสังคม

4.1 การศึกษา สถาบันการศึกษาในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบาเระใต้ ประกอบด้วย

          (1) โรงเรียนระดับประถมศึกษา 5 แห่ง คือ

1) โรงเรียนบ้านบือเระ             ตั้งอยู่หมู่ที่ 7

2) โรงเรียนบ้านบูเกะสูดอ          ตั้งอยู่หมู่ที่ 2

3) โรงเรียนบ้านคลอแระ           ตั้งอยู่หมู่ที่ 3

4) โรงเรียนบ้านตันหยง            ตั้งอยู่หมู่ที่ 4

5) โรงเรียนบ้านฮูแตยือลอ         ตั้งอยู่หมู่ที่ 6

          (2) โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง คือ

1) โรงเรียนดาราศาสน์วิทยา(โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1

          (3) สถาบันศึกษาปอเนาะ 2 แห่ง คือ

1) โรงเรียนดารุลอูลูม                         ตั้งอยู่หมู่ที่ 1

2) โรงเรียนแสงธรรมอิสลามวิทยา           ตั้งอยู่หมู่ที่ 3

          (4) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง คือ

1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบือเระ                 หมู่ที่ 1

2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบูเกะสูดอ             หมู่ที่ 2

3) ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิดกือแลแมเราะ หมู่ที่ 4

4) ศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิดนูรุลอาบีดีน หมู่ที่ 5

4.2. สาธารณสุข

(1) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 2 แห่ง

1) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านบือเระ หมู่ที่ 7

(พื้นที่รับผิดชอบบริการ หมู่ที่ 1, 4, 5 และ 7)

2) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านคลอแระ หมู่ที่ 3

(พื้นที่รับผิดชอบบริการ หมู่ที่ 2, 3 และ 6)

4.3. อาชญากรรม

           อาชญากรรม เป็นปัญหาสังคมที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด พื้นที่ใดมีปัญหาการก่ออาชญากรรมสูงย่อมทำให้สังคมมีความไม่ปลอดภัย ประชาชนอยู่อย่างไม่ปกติสุข และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมต่ำลงไปด้วย

            ตำบลบาเระใต้ เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งโดยหลักของศาสนาอิสลามที่เป็นศาสนาแห่งสันติ ซึ่งหลักคำสอน หรือบทบัญญัติของศาสนาอิสลามนั้นการก่ออาชญากรรมไม่ว่าในรูปแบบต่างๆนั้นถือเป็นการกระทำที่ต้องห้ามและมีกำหนดโทษร้ายแรง แต่ทุกสังคมและทุกศาสนาย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี ดังนั้นปัญหาอาชญากรรมที่พบในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นปัญหาอาชญากรรมประเภทเล็กน้อย เช่น การลักทรัพย์ เป็นต้น โดยสาเหตุสำคัญที่สุดของปัญหาคือ การเสื่อมโทรมทางศีลธรรม ปัญหาความยากจน และการติดยาเสพติดในหมู่วัยรุ่น แต่โดยทั่วไปแล้วตำบลบาเระใต้ไม่ค่อยมีปัญหาการก่ออาชญากรรมเท่าใดนัก

 4.4  ยาเสพติด

           ตำบลบาเระใต้ ถือเป็นอีกตำบลหนึ่งที่มีปัญหาการระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะปัญหาการระบาดของใบกระท่อม ปัญหาการสูบบุหรี่ในหมู่เด็กและเยาวชน การเสพยาไอซ์ และยาแก้ไอ เป็นต้น โดยการเสพน้ำใบกระท่อมในหมู่เยาวชนนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะมีการรณรงค์และการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆถึงโทษและความผิดของการเสพน้ำใบกระท่อมตลอดจนยาเสพติดประเภทอื่นๆแล้วก็ตาม แต่เพราะปัญหาการขาดศีลธรรม รวมถึงปัญหาการถูกชักจูงของเด็กและเยาวชน ทำให้ในภาพรวมแล้วปัญหายาเสพติดในเขตตำบลบาเระใต้ยังน่าเป็นห่วงและรอการแก้ไขต่อไป

4.5. การสังคมสงเคราะห์

       (1) จำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับการจัดสรรเบี้ยยังชีพจากองค์การบริหารส่วนตำบลบาเระใต้ มีทั้งสิ้น จำนวน  702  คน (ข้อมูล ณ เมษายน 2566)

       (2) จำนวนผู้พิการที่ได้รับการจัดสรรเบี้ยยังชีพจากองค์การบริหารส่วนตำบลบาเระใต้ มีทั้งสิ้น จำนวน 272 คน (ข้อมูล ณ เมษายน 2566)

        (3) จำนวนผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับการสงเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนตำบลบาเระใต้ มีทั้งสิ้น จำนวน 2 คน (ข้อมูล ณ เมษายน 2566)

  1. ระบบบริการพื้นฐาน

5.1. การคมนาคมขนส่ง

             การคมนาคมของตำบลบาเระใต้ มีการคมนาคมทางบกโดยใช้เส้นทางที่สำคัญ คือ ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4155 ผ่านทางตอนกลางของตำบลตามแนวนอน เชื่อมการคมนาคมติดต่ออำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ทางทิศตะวันออก และเชื่อมการคมนาคมติดต่อผ่านมายังอำเภอ บาเจาะทางทิศตะวันตกของตำบล ภายในตำบลยังมีถนนโครงข่ายเชื่อมการคมนาคมติดต่อระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ได้แก่                                                 

  • ถนนลาดยาง จำนวน 9 สาย

– สายบ้านบูเกะสูดอ – คลอแระ – สายฮูแตยือลอ – ยามูกือแล

– สายกือแล – โตะเมาะ – สายปอเนาะ – สะอารอนิง

– สายกูวิง – ไม้แก่น – สายฮารัปปันบารู– ตันหยง – ชูโว

– สายปอเนาะ – สุเหร่า – สายบือเระ – ตันหยง

– สายบือราเป๊ะ – กระทุง

  • ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก(คสล.) จำนวน 11 สาย

– สายบูเกะดาแล – สายตรือซิ

– สายกือลองนีดิง – กำปง – สายตันหยง

– สายลูโบะกูวา – สายปะจูหะมะ-มัสยิด

– สายสะบารัง – สุเหร่า – สายสนามฟุตบอล – ชลประทาน

– สายฆือแล – โตะเมาะ – สายบือเระ – กะทุง

– สายกายูตีงี – ชูโว

(3) ถนนลูกรัง จำนวน 16 สาย

– สายโตะปาเก – กะทุง – สายชูโว – ดูกู

– สายคลอแระ – โต๊ะตูแก – สายบาลาเซาะห์ – บาโงตันหยง

– สายปูซูปีแน – โต๊ะปาเก – สายบือเระ – ลูโบะกูวา

– สายมัสยิด – กูโบร์ – สายเกียร์โน-กำปง

– สายสามแยกคลองชลประทาน – ฮูแตยือลอ – สายฆือแล

– สายชลประทาน – ตันหยงยือริง – กือรง-สถานีอนามัย

– สายกูโบร์บารู – สายกูโบร์โต๊ะโซ

– สายหลังมัสยิดชูโว – สายอนามัย – กำปง

5.2 การไฟฟ้า

          ตำบลบาเระใต้ มีไฟฟ้าเข้าครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ 100 %

 5.3. การประปา

           ตำบลบาเระใต้ มีระบบให้บริการประปาหมู่บ้าน จำนวน 4 แห่ง คือ ประปาหมู่บ้าน

หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 6 และ หมู่ที่ 7 และบางหมู่บ้านใช้งานไม่ได้

5.4 โทรศัพท์

            ตำบลบาเระใต้ มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ จำนวนประมาณ 4,000 กว่าเลขหมายและมีตู้เติมเงิน จำนวน 1 ตู้

5.5 ไปรษณีย์หรือการสื่อสารหรือการขนส่ง และวัสดุ ครุภัณฑ์

             ตำบลบาเระใต้มีหน่วยบริการไปรษณีย์ชุมชน(ปณ.ช.) จำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 1 บ้านบือเระ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ย่อยในการรวบรวมและนำจ่ายพัสดุทางไปรษณีย์ทุกประเภทที่รับมาจากที่ทำการไปรษณีย์บาเจาะ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้รับในเขตตำบลบาเระใต้

6.1 การเกษตร

             ประชากรส่วนใหญ่ของตำบลบาเระใต้ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก มีทั้งการกสิกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ชนิดของกสิกรรมที่ทำกันอย่างกว้างขวางได้แก่ การทำสวน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ลองกอง มังคุด และการทำไร่ เช่น ข้าวนาปี แตงโม ข้าวโพด และการปลูกผักสวนครัวต่างๆ เป็นต้น

6.2 การประมง

              ตำบลบาเระใต้ไม่มีพื้นที่ติดกับทะเล ดังนั้นการประมงในเขตตำบลจึงเป็นการทำประมงน้ำจืด อันเนื่องจากตำบลบาเระใต้เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในโซนร้อนเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆของภาคใต้ มีอากาศที่ร้อนชื้น และอุณหภูมิของน้ำที่ค่อนข้างสูงเกือบตลอดทั้งปี เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ได้อย่าง สม่ำเสมอ นอกจากนั้นปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่พื้นดินไหลชะเอาปุ๋ยและเกลือแร่ต่างๆจากเทือกเขาบูโดทางตะวันตกไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองสายต่างๆในเขตตำบลบาเระใต้ทำให้ ลำคลอง บึง และแหล่งน้ำจืดอื่นๆในพื้นที่ตำบลอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำน้อยใหญ่นานาชนิด ชนิดปลาที่พบ ได้แก่ ปลานิล ปลาสุลต่าน ปลาตะเพียน ปลาดุก กุ้งก้ามแดง เป็นต้น

6.3 การปศุสัตว์

              ปศุสัตว์ หมายถึง สัตว์เศรษฐกิจที่มนุษย์นำมาเลี้ยง เพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เช่น เพื่อใช้งาน และเป็นอาหาร เป็นต้น สัตว์เศรษฐกิจมีทั้งสัตว์สี่เท้า เช่น โค กระบือ ม้า แพะ แกะ สุกร และสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน ไก่งวง เป็นต้น

              การเลี้ยงสัตว์นับว่า เป็นอาชีพที่ดีอย่างหนึ่งของเกษตรกร สามารถเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นอาชีพหลัก หรือเลี้ยงจำนวนไม่มาก เพื่อเป็นอาชีพเสริมก็ได้ สำหรับการเลี้ยงสัตว์ของประชาชนในเขตตำบล บาเระใต้ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงในลักษณะของอาชีพเสริมแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ เป็นการเลี้ยงไว้บริโภคและจำหน่ายในบางส่วน ได้แก่ โค กระบือ เป็ด ไก่ แพะ แกะ และนกกระทา เป็นต้น

6.4 การบริการ

          แม้ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตตำบลบาเระใต้จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่บางครัวเรือนก็มีการประกอบอาชีพด้านการให้บริการ(Service Sector) ด้วย โดยการให้บริการที่มีอยู่ในตำบลประกอบด้วย

(1). อู่ซ่อมรถยนต์ จำนวน ๓ แห่ง

(2). ร้านซ่อมจักรยานยนต์ จำนวน 6 แห่ง

(3). ร้านตัดผม จำนวน ๔ แห่ง

(4). ร้านบริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 2 แห่ง

6.5 การท่องเที่ยว

            ปัจจุบันในเขตตำบลบาเระใต้ยังไม่มีแหล่งท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว หากแต่มีสถานที่สำคัญหรือสถานที่ที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้ เช่น ศาลาทรงงานศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบ้านคลอแระ หมู่ที่ 3 พัฒนาแหล่งพักผ่อนหย่อนใจบริเวณริมบึงหรือคลองสายต่างๆ และพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบ Home Stay เป็นต้น

6.6 อุตสาหกรรม

            อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ในตำบลบาเระใต้มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ใช้แรงงานเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ลงทุนไม่สูงนักส่วนใหญ่เป็นการใช้เวลาว่างจากการประกอบอาชีพหลักมาทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ผ้าคลุมฮิญาบ การแกะสลักไม้ การทำเครื่องจักสาน การสานเสื่อกระจูด การจักสานย่านลิเภา เป็นต้น

6.7 การพาณิชย์และกลุ่มอาชีพ

(1).การรวมกลุ่มของประชาชน

                    กลุ่มอาชีพ

– กลุ่มจักสานย่านลิเภา

– กลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์กระจูด

– กลุ่มช่างไม้และแกะสลักผลิตภัณฑ์จากไม้

– กลุ่มปักผ้าคลุมสตรี

– กลุ่มผลิตน้ำยาล้างจานบ้านตันหยง

                    กลุ่มออมทรัพย์และกองทุนต่างๆ

– กลุ่มออมทรัพย์เพื่อชุมชน ม.1

– กลุ่มออมทรัพย์เพื่อชุมชน ม.2

– กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ม.3

– กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ม.1 – 7

6.8 แรงงาน

           แรงงาน คือ กลุ่มบุคคลที่อยู่ในวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 16-60 ปี แรงงานมีความสำคัญในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิตในการผลิตสินค้า และเป็นทุนมนุษย์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นได้ ซึ่งในตำบลบาเระใต้มีประชากรวัยทำงานอยู่ประมาณ 4,000 กว่าคน ส่วนใหญ่ร้อยละ 50 ประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ ร้อยละ 30 ประกอบอาชีพนอกพื้นที่ และร้อยละ 20 ประกอบอาชีพในต่างประเทศ โดยกลุ่มแรงงานที่ประกอบอาชีพในต่างประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปเป็นแรงงานในประเทศมาเลเซีย เช่น รับจ้างกรีดยาง ทำงานตามร้านอาหาร รับเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุ รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งแรงงานในเขตตำบลบาเระใต้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ(Semi-skilled Labor) และแรงงานไร้ฝีมือ(Unskilled Labor)

  1. ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม

7.1 การนับถือศาสนา

          ตำบลบาเระใต้มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 100 โดยมีองค์กรและสถาบันทางศาสนาในเขตพื้นที่ ดังนี้

(1) มัสยิด จำนวน 7 แห่ง คือ

1) มัสยิดบือเร๊ะ หมู่ที่ 1

2) มัสยิดบูเกะสูดอ หมู่ที่ 2

3) มัสยิดฮีดายาตูสซอลีฮีน หมู่ที่

4) มัสยิดบ้านคอลอแระ หมู่ที่ 3

5) มัสยิดกือแลแมเราะ หมู่ที่ 4

6) มัสยิดชูโว หมู่ที่ 5

7) มัสยิดดารุนนาอีน หมู่ที่ 6

(2) ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) 6 แห่ง คือ

1) ตาดีกาอัคลากุลอิสลามียะห์ หมู่ที่ 1

2) ตาดีกาอัลฮีดายาตุลอิสลามียะห์ หมู่ที่ 2

3) ตาดีกาดารุสสาลาม หมู่ที่ 2

4) ตาดีกาดารุลอีมาน หมู่ที่ 3

5) ตาดีกาอิสลาฮุดดีน หมู่ที่ 4

6) ตาดีกาอัลมัมบาอุลอิสลามี(ตาดีกาชูโว) หมู่ที่ 5

7) ตาดีกาดารุลอักซอ หมู่ที่ 6

7.2 ประเพณีและงานประจำปี

           วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบาเระใต้ ก็เหมือนกับประเพณีทั่วไปของประชาชนทั่วไปในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และพูดภาษามลายูท้องถิ่น มีสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต สังคม ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ตามหลักศาสนาอิสลามที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะท้องถิ่น อันประกอบไปด้วย

  • ประเพณีการเกิด

              เป็นประเพณีของหญิงมีครรภ์ที่นิยมไปฝากท้องกับหมอตำแย (โต๊ะบีแด) โดยจัดเครื่องบูชาหมอ ประกอบด้วย หมาก พลู ยาเส้น และเงินตามสมควร การคลอด เมื่อถึงกำหนดคลอด ญาติหรือสามีของหญิงผู้จะคลอด จะไปตามหมอตำแยมาช่วยทำคลอดให้ที่บ้าน เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว หมอตำแยจะชำระล้างทำความสะอาดตัวเด็ก ตัดและผูกสายสะดือ แล้วนำเด็กไปไว้ในถาดใบใหญ่มีผ้าปูรองรับอยู่หลายชั้น แล้วหมอตำแยจะต้มน้ำชำระร่างกายให้แก่ผู้เป็นแม่ แล้วนวดฟั้นทุกส่วนของร่างกาย เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวก ปัจจุบัน ประเพณีการเกิดจะไม่ค่อยมีการปฏิบัติสืบทอดกันมามากนักในเขตตำบลบาเระใต้ ตามยุคสมัยปัจจุบันที่การแพทย์มีความเจริญ และประชาชนคำนึงถึงความสะดวกปลอดภัยในการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลมากกว่า แต่ประเพณีดังกล่าวก็มีการปฏิบัติสืบทอดอยู่บ้างในบางพื้นที่ที่ห่างไกลจากบริการสาธารณสุข รวมถึงเหตุผลด้านการสร้างขวัญ กำลังใจและความสบายใจของผู้เฒ่าผู้แก่

(2) พิธีเลี้ยงรับขวัญบุตร (อาแกเกาะห์ อากีกะฮ์หรือพิธีเชือดสัตว์)

          ตามหลักศาสนาอิสลาม การเชือดสัตว์เพื่อให้สัตว์ที่ถูกเชือดนั้นไปเป็นพาหนะในโลกหน้า โดยบัญญัติให้ชาวอิสลามต้องกระทำด้วยการเชือดแพะ แกะ หรือวัวที่มีอายุครบเกณฑ์และไม่พิการ บางคนอาจจัดงานกินเลี้ยงและมีขบวนแห่ใหญ่โตเชิญแขกเหรื่อให้มากินเหนียว (มาแกบูโละ) หรือบางรายจัดให้มีการแสดงมหรสพเช่น มะโย่ง ลิเกฮูดูให้ชมด้วย ปัจจุบัน ประเพณีรับขวัญบุตรก็ยังมีการปฏิบัติกันอยู่ทุกครัวเรือน แต่จะไม่ค่อยมีการจัดให้มี ขบวนแห่ หรือการแสดงมหรสพเหมือนแต่ก่อนแต่อย่างใด

(3) ประเพณีแต่งงาน

          ประเพณีแต่งงาน หรือ นิกะห์ เป็นการทำพิธีแต่งงานตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับของศาสนาอิสลาม มีอยู่ห้าประการคือ เป็นมุสลิม มีของหมั้น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย มีพยาน ผู้ชายอย่างน้อยสองคน และควรทำพิธีอย่างเปิดเผย ปัจจุบัน ประเพณีการแต่งงานหรือพิธีนิกะห์ ทั้งในเขตตำบลบาเระใต้หรือพื้นที่อื่นๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังมีการปฏิบัติสืบทอดเรื่อยมา เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์หรือหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามด้วย

          (4) ประเพณีมาแกบูโละ

          ประเพณีมาแกบูโละ แปลว่า กินเหนียว หมายถึงการกินเลี้ยงในวันแต่งงาน งานเข้าสุหนัต งานเลี้ยงฉลองความสำเร็จ มีการเชิญแขกด้วยวาจา หรือโดยบัตรเชิญ มีการจัดสถานที่สำหรับจัดเลี้ยงอาหาร ที่จัดเลี้ยงเป็นอาหารธรรมดา เช่น มัสหมั่นเนื้อ ไก่กอและ ซุปเนื้อ ผัดวุ้นเส้น ผักสด น้ำบูดู เป็นต้น ปัจจุบัน ประเพณีมาแกบูโละ เป็นประเพณีและวิถีชีวิตที่มีการปฏิบัติสืบเรื่อยมาทั้งในเขตตำบลบาเระใต้หรือพื้นที่อื่นๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้

(5) ประเพณีมาแกแต (กินน้ำชา)

          ประเพณีมาแกแต (กินน้ำชา) หมายถึงการกินเลี้ยงในงานหาเงินสร้างมัสยิด สร้างโรงเรียนสอนศาสนา หาเงินเพื่อขอความช่วยเหลือจากการประสบอุบัติเหตุ ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากและไม่มีเงินจ่าย อาหารที่เลี้ยงได้แก่ ข้าวยำ น้ำชา หรือ ปูโละซามา (ข้าวหนียวหน้ากุ้ง) เป็นต้น ปัจจุบัน ประเพณีมาแกแต เป็นประเพณีและวิถีชีวิตที่มีการปฏิบัติสืบเรื่อยมาทั้งในเขตตำบลบาเระใต้หรือพื้นที่อื่นๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้                         

(6) ประเพณีมาแกสมางัด

          ประเพณีมาแกสมางัด คือกินเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว จูงเมือเจ้าบ่าวเข้าไปในห้องของเจ้าสาว จัดให้นั่งเคียงคู่กับเจ้าบ่าว ปัจจุบันนิยมจัดให้นั่งบนเก้าอี้บนแท่นหรือบัลลังก์ที่เรียกว่า ปงายางัน อาหารที่ใช้ป้อนเจ้าบ่าว เจ้าสาว มีข้าวเหนียวเหลือง – แดง – ขาว มีสามส่วน ลักษณะเหมือนกลีบสามกลีบประกบกันเป็นพุ่ม เหมือนพุ่มดอกไม้ที่ประดับในพานพุ่มข้าวเหนียวนี้เป็นพุ่มใหญ่ สูงประมาณ ๑ ศอก บนยอดพุ่มมีไข่ต้มแกะเปลือกออกแล้ววางอยู่ ๑ ฟอง ไก่ย่าง ๑ ตัว ขนมกะละแม ขนมก้อ และข้าวพอง หญิงที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของเจ้าสาวจะหยิบข้าวเหนียวไข่ต้ม เนื้อไก่ย่าง และขนมป้อนให้เจ้าบ่าว เจ้าสาวกินคนละคำสลับกันเป็นการกินเพื่อเป็นสิริมงคล ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวไม่ค่อยมีการปฏิบัติมากนักในเขตตำบลบาเระใต้                                    

(7) ประเพณีการเข้าสุหนัต

          การเข้าสุหนัต หรือ มาโซะยาวี เป็นการปฏิบัติตามนบีที่ได้เคยทำมา คำว่ามาโซะยาวี เป็นภาษามลายู (มาโซะ แปลว่า เข้า ยาวี เป็นคำที่ใช้เรียก ชาวอิสลามที่อยู่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดยส่วนรวม) หมายถึงเข้าอิสลาม หรือพิธีขลิบหนังปลายอวัยวะเพศชาย การเข้าสุหนัตชายมักจะทำการเข้าสุหนัตในระหว่างอายุ ๑ ขวบ ถึงอายุ ๑๕ ขวบ หญิงจะเข้าสุหนัตตั้งแต่คลอดใหม่ๆจนอายุไม่เกิน ๒ ขวบ การเข้าสุนัตในเด็กชายอิสลามมักจะนำพิธีหรือมีงานเลี้ยงใหญ่โตตามแต่สถานะของแต่ละคนด้วย ปัจจุบัน ประเพณีการเข้าสุหนัตมีการปฏิบัติเรื่อยมาทั้งในตำบลบาเระใต้และทุกพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลาม เพราะนอกจากจะเป็นประเพณีแล้วยังถือเป็นวิถีปฏิบัติหรือหลักปฏิบัติที่ชายที่นับถือศาสนาอิสลามทุกคนต้องผ่านการเข้าสุหนัต เพื่อความสะอาดของร่างกายและเพื่อเป็นชายอิสลามที่สมบูรณ์

(8) ประเพณีฮารีรายอ ประเพณีฮารีรายอ เทศกาล ฮารีรายอมีอยู่สองวันคือ

           1)  ฮารีรายอปอซอ หรือ ตรุษอิฎิลฟิตรี เป็นวันรื่นเริง เนื่องจากสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ตรงกับวันที่หนึ่งของเดือนเซาวาล ซึ่งเป็นเดือนที่สิบทางจันทรคติ การปฏิบัติของชาวอิสลามในวันรายอจะบริจาคทานเรียกว่า ซากัดฟิตเราะห์ (การบริจาคข้าวสาร) มีการบริจาคทานแก่คนแก่หรือคนยากจน บางทีจึงเรียกว่า วันรายอฟิตเราะห์ หลังจากนั้นจะไปละมาดที่มัสยิด จากนั้นจะมีการขอขมาจากเพื่อน มีการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้และไกลออกไป มีการเลี้ยงอาหารด้วย             

         ๒)  ฮารีรายอฮัจญี หรือ ตรุษอิฎิลอัฎฮา คำว่า อัฎฮา แปลว่า การเชือดพลี เป็นการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน อิดิลอัดฮา จึงหมายถึงวันรื่นเริงเนื่องในวันเชือดสัตว์พลี ตรงกับวันที่สิบของเดือนซุลฮิจญะ เป็นเวลาเดียวกับการประกอบพิธีหัจญ์ ที่เมืองเมกกะของชาวอิสลามทั่วโลก ชาวไทยอิสลามจึงนิยมเรียกวันตรุษนี้ว่าวันอีดใหญ่ การปฏิบัติจะมีการละหมาดร่วมกันและเชือดสัตว์เช่น วัว แพะ แกะ แล้วแจกจ่ายเนื้อสัตว์เหล่านั้นแก่คนยากจน การเชือดสัตว์พลีนี้เรียกว่า กรุบาน

ปัจจุบัน ประเพณีฮารีรายอยังมีการปฏิบัติเรื่อยมาในตำบลบาเระใต้และในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงพื้นที่อื่นๆที่มีมุสลิมอาศัยอยู่ทั่วโลก ฮารีรายอเป็นประเพณีที่สำคัญประเพณีหนึ่งของศาสนาอิสลาม เพราะนอกจากจะเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคสมัยของท่านศาสดามูฮำหมัดจนถึงปัจจุบันแล้ว ยังเป็นวิถีปฏิบัติที่สวยงามตามบทบัญญัติของศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการความเมตตา การอดกลั้น การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือ และสันติสุขอีกด้วย

(9) ประเพณีวันเมาลิด

          วันเมาลิด เมาลิดเป็นภาษาอาหรับแปลว่า ที่เกิดหรือวันเกิด หมายถึงวันเกิดของ  นบีมูฮัมมัด ตรงกับวันที่ ๑๒ เดือนรอบีอุลอาวาล หรือเดือนที่ ๓ ตามปฏิทินอาหรับ วันเมาลิดยังเป็นวันรำลึกถึงวันที่ท่านลี้ภัยจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์ และเป็นวันมรณกรรมของท่านด้วย กิจกรรมต่าง ๆ ในวันเมาลิดได้แก่ การเชิญคัมภีร์อัล-กุรอ่าน การแสดงปาฐกถาธรรม การแสดงนิทรรศการ ฯลฯ และการเลี้ยงอาหาร ซึ่งปัจจุบันงานเมาลิดยังมีการปฏิบัติสืบทอดเรื่อยมาทั้งในตำบลบาเระใต้และชุมชนอิสลามอื่นๆทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก                                           

(10) ประเพณีอาซูรอ

          วันอาซูรอ หรือประเพณีกวนอาซูรอ เป็นประเพณีที่สำคัญอีกประเพณีของศาสนาอิสลาม อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงวันที่สิบของเดือนมุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนทางศักราชอิสลามในสมัย นบีนุฮ ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ยังเป็นความเสียหายแก่ทรัพย์สินไร่นาของประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดขาดอาหาร    นบีนุฮ  จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของที่เหลือพอจะกินได้ให้เอามากองรวมกันนบีนุฮ ให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน สาวกของท่านก็ได้กินอาหารโดยทั่วกันและเหมือนกัน ปัจจุบันประเพณีอาซูรอยังมีการปฏิบัติสืบทอดเรื่อยมาทั้งในตำบลบาเระใต้ รวมถึงพื้นที่ที่ประชาชนนับถือศาสนาอิสลามอื่นๆทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

7.3 ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาษาถิ่น                       

  • ภาษาถิ่นและการพูดจา

              ประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบาเระใต้ ก็เหมือนกับชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นิยมพูดภาษามลายูท้องถาน(ภาษายาวี)ในชีวิตประจำวันมากกว่าภาษาไทย เนื่องจากจะพูดภาษาไทยในการสื่อสารไม่ค่อยชัด เพราะภาษามลายูเป็นภาษาที่มีมาตั้งแต่เกิดและเป็นภาษาที่บรรพบุรุษได้สืบทอดมา จึงทำให้พูดภาษาไทยไม่ชัด ในส่วนของการพูดจานั้น ประชาชนในตำบลก็เหมือนชาวไทยมุสลิมโดยทั่วไปที่จะกล่าวคำ บิสมิลลาฮฺ ฮิรเราะหฺมานิรเราะฮีม มีความหมายว่า ด้วยนามของอัลเลาะห์ผู้กรุณาปราณี ผู้เมตตาเสมอ เมื่อเริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิน นั่ง นอน อาบน้ำ สวมเสื้อผ้า ฆ่าสัตว์เป็นอาหาร เขียน อ่านหนังสือ ฯลฯ ซึ่งการกล่าวคำดังกล่าวนั้นนอกจากจะได้ผลบุญแล้วยังเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตอีกด้ว

  • การแสดงความเคารพ

              ประชาชนในเขตตำบลบาเระใต้ มีวิถีปฏิบัติในสังคมเหมือนกับชาวไทยอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการแสดงความเคารพชาวไทยอิสลามเมื่อพบปะหรือกันจะกล่าว สลาม หรือทักทายกันด้วยคำว่า “อัสสลามอะลัยกุม” มีความมายว่า ขอความสันติสุขจงมีแต่ท่าน ผู้รับจะรับว่า “วะอะลัยกุมุสสะลาม” หมายความว่า ขอความสันติสุขจงมีแก่ท่านเช่นกัน การปฏิบัติเกี่ยวกับการกล่าว สะลาม มีหลายประการ คือการสะลามและการจับมือด้วย ผู้ที่อายุน้อยกว่าควรให้สะลามผู้ที่อายุมากกว่า กล่าวสะลามเมื่อจะเข้าบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านของตนเองหรือผู้อื่น กล่าวสะลามเมื่อเริ่มบทสนทนาหรือการปฏากฐา และเมื่อมีผู้ให้สะลาม ผู้ฟังหรือผู้ที่ได้ยินต้อง (บังคับ) กล่าวรับสะลาม              

  • การกินอาหาร

              อาหารการกิน รวมถึงค่านิยมในการกินอาหารของประชาชนในพื้นที่นั้นก็เหมือนกับประชาชนที่นับถือสาสนาอิสลามตามพื้นที่อื่นๆ กล่าวคือ มีบัญญัติเรื่องอาหารในอัลกุรอาน โดยให้บริโภคจากสิ่งที่อนุมัติและสิ่งที่ดี ไม่บริโภคอย่างสุรุ่ยสุร่าย และสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย สติปัญญา อาหารที่ไม่อนุมัติเช่นเนื้อหมู เลือดสัตว์ที่ตายแล้ว สัตว์ที่เชือดโดยเปล่งนามอื่นนอกจากอัลเลาะห์ สัตว์ที่เชือดเพื่อบูชายัญ อาหารที่จัดอยู่ในพวกเครื่องดื่มมึนเมา และสิ่งอื่นใดก็ตาม ที่อยู่ในข่ายก่อให้เกิดโทษมากกว่าเกิดประโยชน์ ก็ไม่เป็นที่อนุมัติเช่นกัน เช่นเหล้า ยาเสพติดทุกประเภท ฯลฯ  

  • รูปแบบสังคม

               ประชาชนในตำบลบาเระใต้มีรูปแบบสังคมที่เหมือนกับชุมชนที่พูดภาษามลายูและนับถือศาสนาอิสลามทั่วไปในแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มไม่ปะปนกับชุมชนที่นับถือศาสนาอื่น อยู่กันเป็นหมู่บ้านประกอบอาชีพด้วยกันในชุมชนเดียวกัน ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ที่พูดภาษามลายูก็สามารถพูดไทยได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะมีการศึกษาสูงขึ้นตามความเจริญของท้องถิ่นและความจำเป็นที่ต้องประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กัน

        7.4 สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก

          แม้ปัจจุบันในตำบลบาเระใต้จะไม่มีกลุ่มอาชีพที่ได้รับสินค้าโอทอปติดดาว แต่ก็มีหลายๆกลุ่มอาชีพที่มีผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จนมีชื่อเสียงและสามารถจำหน่ายในการออกร้านหรือออกบูธตามงานหรือเทศกาลสำคัญของอำเภอหรือจังหวัด เช่น กระเป๋าและผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาของกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาบ้านบูเกะสูดอ เสื่อและผลิตภัณฑ์จากกระจูดของกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์กระจูดบ้านคลอแระ ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานของกลุ่มสตรีบ้านตันหยง ผ้าคลุมสตรีของกลุ่มปักผ้าคลุมบ้านบือเระ เป็นต้น

  1. ทรัพยากรธรรมชาติ

         8.1 น้ำ ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของตำบลบาเระใต้เป็นที่ราบลุ่มใกล้ชายฝั่ง และเป็นบริเวณที่รองรับน้ำฝนจากเทือกเขาบูโดก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ทำให้พื้นที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ประเภท แอ่งน้ำ ลำห้วย คลอง บึง หลายแห่ง โดยมีลำคลองที่สำคัญๆประกอบด้วย

1) คลองอัลโล

2) คลองปาเระยารอ

3) คลองปาเระกาแร

4) คลองตันหยง

5) คลองลือมู

6) คลองชลประทาน

7) คลองปาเระแมะนา

8) คลองส่งน้ำชลประทาน

9) คลองลูโบะบูโละ

10) คลองส่งน้ำชลประทาน (สายที่ 2)

            แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ฝายจำนวน 11 แห่ง ได้แก่

1) ฝายคลองลือมู

2) ฝายคลองกะทุง

3) ฝายปาเระปะดอแว

4) ฝายบาโงโตะปาเก

5) ฝายคลองชลประทาน

6) ฝายคลองชูโว

7) ฝายตรือซิ

8) ฝายคลองลูโบะบูโละ

9) ฝายคลองกลาดี

10) ฝายปะดอแว 2

11) ฝายคลองกลาดี-ตันหยง

           แต่เนื่องจากที่ตั้งของตำบลอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล และมีป่าพรุ ป่าเสม็ด เป็นจำนวนมาก ทำให้คุณภาพของน้ำเพื่อการบริโภคไม่ดีมากนัก ลักษณะของน้ำที่จะออกเป็นสีแดงและมีตะกอน ซึ่งรอการแก้ไขต่อไป

8.2 ป่าไม้

          ป่าไม้ ส่วนใหญ่เป็นป่าพรุและป่าเสม็ด มีเนื้อที่ประมาณ 11,409 ไร่ ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านฮูแตยือลอ หมู่ที่ 3 บ้านคลอแระ และหมู่ที่ 2 บ้านบูเกะสูดอ

8.3 ภูเขา

         เพราะตำบลบาเระใต้เป็นตำบลเล็กๆที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง ทำให้บริเวณพื้นที่ไม่มีภูเขาหรือเทือกเขาสูงๆแต่อย่างใด จะมีเพียงภูเขาเล็กๆลูกหนึ่งที่ชื่อว่า “เขาสูดอ” หรือชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันติดปากว่า       “บูเกะสูดอ” ที่มีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ยๆ

8.4 ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของตำบลบาเระใต้

        ทรัพยากรธรรมชาติในเขตตำบลบาเระใต้ส่วนใหญ่เป็นประเภทแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่หลายแห่งในตำบล โดยเฉพาะในเขตหมู่ที่ 7 บ้านบือเระ 2 ที่มีลำห้วย คลอง บึง เป็นจำนวนมากที่อุดมไปด้วยพันธุ์สัตว์น้ำอันเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของประชาชนในตำบล ในขณะที่ทรัพยากรประเภทป่าไม้นั้น ส่วนใหญ่ในตำบลจะเป็นป่าพรุที่มีไม้เสม็ดขึ้นอย่างหนาแน่น ในเขตหมู่ที่ 6 บ้านฮูแตยือลอ หมู่ที่ 2 บ้านบูเกะสูดอ และหมู่ที่ 3 บ้านคลอแระ แม้จะมิใช้ไม้ที่มีคุณภาพสูงแต่ประชาชนก็สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้บ้างในด้านการก่อสร้างและด้านการเกษต